ส่องเทรนด์ ‘โดรน’ โดนในอุตสาหกรรมต่างๆ

     

     หากพูดถึงเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles) หรือ โดรน หลายคนมักรู้จักโดรนในบริบทของงานอดิเรกและอุปกรณ์ถ่ายภาพทางอากาศมุมสูง แต่แท้จริงแล้วโดรนถูกพัฒนาเพื่อรองรับการใช้งานในหลากหลายวัตถุประสงค์

     โดรนถูกใช้งานครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1918 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อสนับสนุนการทำสงครามของกองทัพสหรัฐอเมริกาและกลุ่มพันธมิตร มาในวันนี้โดรนไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะการใช้งานทางทหารเท่านั้น จากการพัฒนาระบบให้สามารถใช้งานได้ง่ายมากขึ้น ที่มาพร้อมลูกเล่นหลากหลายรูปแบบ รวมถึงศักยภาพในการบินที่สูงมากขึ้น ทำให้โดรนได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและส่งผลต่อการพัฒนาเพื่อรองรับธุรกิจแขนงต่างๆ

 

โดรน เทคโนโลยีทางเลือกเพื่อการเกษตรในยุค 4.0

     การเกษตรกรรมถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่อยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รูปแบบการทำการเกษตรถูกพัฒนาไปมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากการเกษตรแบบดั้งเดิมที่ใช้แรงงานคน สู่การนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลมาใช้ทุ่นแรง ล่าสุดมีการนำโดรนมาใช้เป็นเทคโนโลยีทางเลือก เข้ามาทำงานในทุกกระบวนการผลิต ตามแบบฉบับเกษตรวิถีใหม่ จากเดิมที่ต้องใช้คนจำนวนมากในการทำการเกษตร ซึ่งใช้เกินเวลาหลายชั่วโมง ต่อพื้นที่ 10 ไร่ แต่เมื่อมีการนำโดรนเข้ามาใช้ สามารถช่วยลดจำนวนแรงงานเหลือเพียง 1-2 คนเพื่อใช้ในการควบคุมดูแล และลดระเวลาในการทำงานเหลือเพียง 10 นาที เท่านั้น

ที่มาภาพ : https://siamrath.co.th/n/96692

 

    ในประเทศไทยเริ่มมีการทดลองใช้โดรนในการทำการเกษตรบ้างแล้ว โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาลและเอกชน  จัดตั้งโครงการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับเพื่อประเมินความหวานและผลผลิตของอ้อย หรือ Field Practice Solutions (FPS) ซึ่งเป็นการนำโดรนมาพัฒนาร่วมกับซอฟแวร์ภาพถ่ายทางดาวเทียมของภาคเอกชน โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลทางกายภาพของพื้นที่ไร่รวมถึงความสูงของต้นอ้อยซึ่งมีผลต่อความหวานของอ้อย

     ซึ่งการวิเคราะห์ดังกล่าวช่วยให้สามารถหาเวลาเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง เพื่อได้ผลผลิตอ้อยที่ดีที่สุด โดยระบบ FPS ถือว่ามีความแม่นยำมากกว่าการตรวจสอบโดยใช้มนุษย์ ซึ่งมีค่าความผิดพลาดได้ถึงร้อยละ 40 นอกจากนียังเป็นการช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา รวมถึงช่วยลดต้นทุนการผลิตอีกด้วย

 

วิวัฒนาการใหม่ เปลี่ยนโดรนเป็นนักสำรวจพื้นที่

ที่มาภาพ : https://www.inceptivemind.com/griflion-h-hydrogen-powered-drone-fly-15-hour/9264/

     

     ปัจจุบันมีการนำโดรนมาใช้เพื่อปฏิบัติภารกิจทางด้านการสำรวจมากขึ้น เช่น การสำรวจเพื่อทำแผนที่ การสำรวจพื้นที่ๆ ที่ยากต่อการเข้าถึง โดยมีการพัฒนาศักยภาพการทำงานของโดรนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและลดข้อจำกัด

     Griflion H โดรนเชื้อเพลิงไฮโดรเจนรุ่นใหม่ถูกพัฒนาขึ้นโดย MMC UAV บริษัทชั้นนำด้านการผลิตอากาศยานไร้คนขับสัญชาติจีน ซึ่งความพิเศษของโดรนรุ่นนี้คือสามารถบินได้นานถึง 15 ชั่วโมง ต่างจากโดรนปกติที่ขายตามท้องตลาดซึ่งจะบินได้นานติดต่อกันได้เพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการติดตั้งแผ่นเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนแบบ 2 ขั้วที่ทำให้บินได้ยาวนานขึ้น ซึ่งถือเป็นการสร้างสถิติใหม่ให้กับวงการโดรน  และด้วยความสามารถในการบินที่ยาวนานกว่าเดิมยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดทำแผนที่ เนื่องจากการบินขึ้นลงหลายครั้งอาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการทำงาน

ที่มาภาพ : https://www.salika.co/2019/10/01/drone-innovation-geoinfomatric-updated-2/

     

     การใช้โดรนเพื่อการสำรวจไม่ได้จำกัดเพียงบนพื้นดินเท่านั้น หากมีการนำมาต่อยอดใช้ในการสำรวจน่านน้ำในบริเวณที่ยากต่อการเข้าถึง “SD 1021” คือชื่อของ Saildrone  หรือโดรนเรือใบ ยานผิวน้ำไร้คนขับที่ใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อนลำแรกที่สามารถเดินทางรอบทวีปแอนตาร์กติกาได้สำเร็จ โดยออกเดินทางจากเมืองลีมิงตัน สหราชอาณาจักร ล่องผ่านน่านน้ำมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือไปสิ้นสุดที่เมืองนิวพอร์ต รัฐโรดไอแลนด์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสำรวจและเก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับมหาสมุทรและสภาพภูมิอากาศในบริเวณน่านน้ำที่ไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน

     โดย Saildrone ทำการบรรทุกข์อุปกรณ์สำหรับวัดการถ่ายเทคาร์บอนที่ติดเซ็นเซอร์เพื่อใช้ส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่านดาวเทียมแม้ขณะอยู่ในทะเล ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถช่วยยืนยันได้ว่ามหาสมุทรแอนตาร์กติกปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นปริมาณมากในฤดูหนาว และยังช่วยส่งข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับมหาสมุทรและสภาพภูมิอากาศที่ไม่เคยเก็บข้อมูลมาก่อนกลับมาได้ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการจำลองภูมิอากาศโลก

 

โดรนกับงานสำรวจในประเทศไทย

     

     ในประเทศไทยเองได้เริ่มมีการนำโดรนเข้ามาใช้ในการสำรวจอย่างแพร่หลายมากขึ้น หน่วยงาน Digital Innovation & Technology Center หรือ DITC ของบริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด (PTT Digital) ซึ่งดำเนินโครงการให้บริการโดรน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานหลากหลายรูปแบบ ได้รับเกียรติไปร่วมออกงาน Thailand Digital Big Bang 2019 มหกรรมแสดงเทคโนโลยีดิจิทัลระดับนานาชาติ

     ทางทีม DITC ได้นำ “Accel” โดรนประเภท Hybrid VTOL Fixed Wing ที่ทำการพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งทำการบินด้วยระบบอัตโนมัติ (Autopilot) และสามารถทำการวางแผนเส้นทางการบินได้ ไปจัดแสดงภายในงาน เพื่อแสดงศักยภาพของนวัตกรรมโดรนที่ใช้ในงานสำรวจ  โดยโดรนดังกล่าวถูกพัฒนาให้มีศักยภาพสูงสุดเพื่อตอบโจทย์และสนับสนุนงานสำรวจให้ครอบคลุมมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การสำรวจเก็บข้อมูลภาพถ่ายเพื่อวิเคราะห์ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ การตรวจสอบแนวท่อส่งก๊าซหรือน้ำมันเพื่อใช้สนับสนุนการวางแผนติดตั้งและการซ่อมบำรุงรักษา การตรวจสอบเส้นทางแนวเดินสายไฟฟ้าแรงดันสูงจากภาพถ่ายทางอากาศ การสร้างแบบจำลอง ผัง Sketch Up 3D และการวิเคราะห์ขนาด ระยะทาง รวมถึงวัดปริมาตรของสิ่งปลูกสร้างถนน

     

     ทั้งนี้ยังที่มีการนำระบบ AI Detection ที่ใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการค้นหาวัตถุอย่างอัตโนมัติและช่วยในการติดตามรวมถึงวิเคราะห์ผลการเปลี่ยนแปลงและความผิดปกติที่เกิดขึ้นบนพื้นที่เสี่ยงได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

     โดรน Accel ถูกนำมาใช้ทดสอบในการใช้ตรวจสอบเครื่องจักรหนักตามพื้นที่แนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และจากผลการทดสอบที่ได้จากวิเคราะห์จากภาพถ่ายทางอากาศพบว่า โดรนสามารถระบุตำแหน่งของรถแบคโฮที่ทำงานอยู่บริเวณนั้นได้อย่างแม่นยำ  นอกจากนี้ยังมีการนำโดรนมาใช้เพื่อเฝ้าระวังช้างป่าที่อาจจะก่อความเสียหายของรั้วที่กั้นบริเวณแนวท่ออีกด้วย

     ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของความสำเร็จของการนำโดรนมาใช้กับงานสำรวจประเทศไทย โดยทาง DICT มุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมโดรนเพื่อยกระดับศักยภาพการทำงานที่ก่อให้เกิดประโยชนฺสูงสุดต่ออนาคตของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ

 

ขนส่งด้วยโดรน มิติใหม่ของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

ในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 นี้ หลายภาคธุรกิจหันมาใช้ระบบการขนส่งแบบไร้การสัมผัสเชิงพาณิชย์ รับกระแส Social Distancing เพื่อใช้อำนวยความสะดวกและเว้นระยะห่างระหว่างกันมากขึ้น  


ที่มาภาพ : https://www.suasnews.com/2020/04/f-drones-completes-first-commercial-beyond-visual-line-of-sight-bvlos-drone-delivery-in-singapore/

     

     บริษัท F-drones ของประเทศสิงคโปร์ เริ่มให้บริการโดรนส่งพัสดุเชิงพาณิชแบบทำการในรัศมีเกินระยะสายตา (Beyond Line of Sight) เป็นครั้งแรกเมื่อเดือน เมษายน 2563 ที่ผ่านมา โดยทำการบรรทุก วิตามิน น้ำหนัก 2 กิโลกรัม ไปยังเรือขนส่งสินค้าที่อยู่ห่างออกไปจากชายฝั่งเป็นระยะทางกว่า 2.7 กิโลเมตร ภายในระยะเวลาเพียง 7 นาที ซึ่งช่วยลดต้นทุนการขนส่งมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการขนส่งด้วยเรือเล็กหรือเฮลิคอปเตอร์

      โดยบริการดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งถือเป็นการช่วยลดการพบปะกับผู้คนโดยไม่จำเป็นได้อีกด้วย นอกจากนี้ทางบริษัทยังมีแผนใช้โดรนในการส่งพัสดุขนาด 100 กก. ไปยังปลายทางห่างจากระยะชายฝั่งกว่า 100 กม. ภายในปี 2564

ที่มาภาพ:  https://thestandard.co/walmart-now-piloting-on-demand-drone-delivery-with-flytrex/

     

     อีกฝากหนึ่งของโลก ห้างซุปเปอร์มาเก็ตชื่อดังของสหรัฐอเมริกา  Walmart เริ่มมีการทดลองใช้โดรนส่งสินค้า ที่เมือง เฟย์เอตต์วิลล์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ในเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา โดยการให้บริการดังกล่าวเป็นโครงการนำร่องภายใต้ความร่วมมือกับ Flytrex บริษัทขนส่งเดลิเวอรีด้วยโดรนแบบ “End-to-End”  ในช่วงเริ่มต้นทางห้างจะจำกัดการขนส่งเฉพาะสินค้าประเภทอุปโภค บริโภค และของสดบางประเภทก่อน

     นอกจากนี้ยังมีซุปเปอร์มาร์เก็ตอีกหลายแห่งประกาศเริ่มแผนทดสอบการใช้โดรนในการขนส่งสินค้า ไม่ว่าจะเป็น ยักษ์ใหญ่เชนซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติอังกฤษ Tesco ที่เริ่มมีการทดสอบใช้โดรนส่งสินค้าในประเทศไอซ์แลนด์ ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ธุรกิจขนาดใหญ่แต่ธุรกิจขนาดเล็กอย่างซุปเปอร์มาเก็ตท้องถิ่น Rouses Market จากรัฐหลุยส์เซียนา สหรัฐอเมริกา เองได้ทำการการร่วมมือกับบริษัท Deuce Drone เพื่อทำการเตรียมทดสอบโดรนส่งของในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้  

     ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของ COVID – 19 ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โดรนเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมการโลจิสติกส์อย่างมากทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันและส่งผลต่ออนาคต

     ไม่เพียงแต่วงการโลจิสติกส์ วงการคมนาคมเองก็มีการนำโดรนมาทดลองใช้ในรูปแบบหลากหลาย สมัยนี้นั่งแท็กซี่ธรรมดามันไม่ทันใจ ต้องแท็กซี่บินได้เท่านั้น กระแสโดรนแท็กที่เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว โดยมีการทดลองการใช้งานจริงในหลายประเทศ แต่ล่าสุดการใช้งานดังกล่าวกำลังจะกลายเป็นจริง เมื่อ Volocopter บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติเยอรมัน ได้เริ่มให้บริการจองตั๋วล่วงหน้า เพื่อทำการบินจริงในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยค่าให้บริการอยู่ที่ 300 ยูโร (ประมาณ 11,060 บาท) ต่อการให้บริการ 15 นาที

ที่มาภาพ : https://www.komchadluek.net/news/regional/297005

   

    หากย้อนกลับไป เมื่อปี 2017 โดรนแท็กซี่อัตโนมัติลำแรกของโลก “Autonomous Air Taxi” (AAT) เริ่มทดลองบินครั้งแรกของโลกที่นครรัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรส โดยใช้บริการโดรนแท็กซี่ของบริษัท Volocopter ที่เป็นระบบบังคับแบบไร้คนควบคุมสั่งการ ซึ่งโดกรนแท็กซี่ลำนี้มีหน้าตาเหมือนกับเฮลิคอปเตอร์ สามารถบรรจุผู้โดยสารจำนวน 2 ที่นั่ง และขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีความปลอดภัยขั้นสูง ด้วยการออกแบบที่ใช้ตัวหมุนถึง 18 ตัว เพื่อใช้ทดแทนในยามที่ตัวหมุนใดเกิดทำงานขัดข้อง

     โดยโดรนแท็กซี่สามารถบินได้ยาวนานถึง 30 นาที ที่ความเร็ว 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ความเร่งสูงสุดได้เกือบถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้ โดรนดังกล่าวยังมีเสียงขณะการใช้งานที่เบา รวมทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเฮลิคอปเตอร์ทั่วไปอีกด้วย

 

ยกระดับความบันเทิงด้วยโดรน

ที่มาภาพ : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/893402

     

     ภาพตระการตา ความสวยงามของการบินโดรนแปรอักษร (Drone Light Show) เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา จำนวนกว่า 500 ลำ แปรขบวนแสงสีเหนือท้องฟ้า ณ สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2563  สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก

ที่มาภาพ : https://techsauce.co/tech-and-biz/arv-ai-and-robotic-venture-drone-pttep

     

     ความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จํากัด หรือ ARV บริษัทในเครือของปตท.สผ ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจําลองและวิทยุบังคับ นำซอฟท์แวร์ Swarm Drone มาพัฒนาต่อยอดเป็นโดรนแปรอักษรกลางท้องฟ้าได้เป็นครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และถือเป็นรายที่ 9 ของโลก โดยซอฟท์แวร์ Swarm Drone ถือเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่ใช้ควบคุมฝูงโดรนจำนวนมากให้เคลื่อนที่ไปพร้อมกันอย่างมีระเบียบ ซึ่ง Swarm Drone ถือเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ ที่ส่วนมากจะถูกนำมาใช้ในทางทหารและการสำรวจตรวจภัยพิบัติเป็นหลัก

     การพัฒนาเทคโนโลยีครั้งนี้เกิดจากการนำเทคโนโลยีหลากหลายรูปมาทำงานร่วมกันเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการสื่อสาร โดยโดรนจะต้องถูกออกแบบให้บินได้อย่างปลอดภัยแม้จะเกิดเหตุขัดข้อง และพร้อมรองรับสถานการณ์การบินในรูปแบบต่างๆ เช่น ป้องกันการรบกวนจากสัญญาณภายนอกในสภาพแวดล้อมเปิด ระบบป้องกันโดรนบินออกนอกพื้นที่การแสดง ระบบตรวจสอบความพร้อมในการใช้งาน และระบบลงจอดอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุขัดข้อง เป็นต้น

 


ที่มาภาพ : http://www.thedronegirl.com/2019/08/19/harry-potter-drone-show/

     

     ในต่างประเทศเอง สวนสนุกชื่อดังระดับโลกอย่าง Universal Studio ได้มีการนำโดรนมาใช้เพื่อเพิ่มอรรถรสและสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้แก่ผู้ชม ในงานแสดง แสง สี เสียง ชุด The Dark Arts at Hogwarts™ ที่จัดขึ้นที่ Universal Orlando Resort และ Universal Studios Hollywood ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2019 โดยไฮไลท์สำคัญของการแสดงชุดนี้คือมีการใช้โดรน LED แปลเป็นรูป ผ่านเทคโนโลยีของ Intel เพื่อประกอบการเล่าเรื่องราวในฉากต่างๆ ของภาพยนต์เรื่อง Harry Potter

     จะเห็นได้ว่าโดรนถูกพัฒนาให้ล้ำสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อช่วยสร้างประโยชน์และลดข้อจำกัดให้กับทุกภาคธุรกิจ ซึ่งยังก่อให้เกินความเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศอย่างมหาศาล ดังนั้นหากธุรกิจใดตื่นตัวนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโดรนเข้ามาประยุคก์ใช้ได้อย่างรวดเร็ว ก็เหมือนกับการติดอาวุธให้กับองค์กรพร้อมเข้าสู้กับคู่แข่งในตลาดที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงตลอดเวลาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

 

แหล่งอ้างอิง :

  1. 1. Techsauce Team. (2563). รู้จัก ARV บริษัทคนไทยผู้พัฒนาซอฟท์แวร์โดรนแปรอักษรสำเร็จเป็นรายแรกของอาเซียน. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 จาก https://techsauce.co/tech-and-biz/arv-ai-and-robotic-venture-drone-pttep
  2. 2. Praornpit Katchwattana. (2562). อัปเดต 2 นวัตกรรมโดรน สุดเจ๋ง เขย่าวงการใช้โดรนในงานสำรวจ. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 จาก https://www.salika.co/2019/10/01/drone-innovation-geoinfomatric-updated-2/
  3. 3. โดรนเรือใบ “Saildrone” เดินทางรอบแอนตาร์กติกาได้สำเร็จ. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 จาก http://stock.newsplus.co.th/171665
  4. ASHWINI SAKHARKAR. (2019). New hydrogen-powered drone can fly for record-breaking 15-hour. Retrieved October 27, 2020, from https://www.inceptivemind.com/griflion-h-hydrogen-powered-drone-fly-15-hour/9264/
  5. 4. Techsauce Team. (2019). AI ใช้ Drone บินวัดความหวานไร่อ้อย ฝีมือคนไทยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 จาก https://techsauce.co/tech-and-biz/field-practice-solutions-ai-drone
  6. 5. โดรนกับเกษตรไทย Tech Series: Drone for Smart Farming. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 จาก https://www.depa.or.th/th/article-view/tech-series-drone-smart-farming
  7. 6. SUAS News. (2020). F-drones Completes First Commercial Beyond-Visual- Line-of-Sight (BVLOS) Drone Delivery in Singapore. Retrieved October 27, 2020, from https://www.suasnews.com/2020/04/f-drones-completes-first-commercial-beyond-visual-line-of-sight-bvlos-drone-delivery-in-singapore/
  8. 7. แท็กซี่บินได้ Volocopter เปิดจองให้บริการเป็นครั้งแรก. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 จาก https://www.adpt.news/2020/09/18/volocopter-opens-reservations-for-first-electric-air-taxi-flights/
  9. 8. Tom Ward. (2020). Retrieved October 27, 2020, from Walmart Now Piloting Drone Delivery of COVID-19 At-Home Self-Collection Kits
  10. Los Angeles Daily News. (2019). Retrieved October 27, 2020, from https://www.dailynews.com/2019/04/13/universal-studios-hollywood-deploys-aerial-drones-in-new-dark-arts-at-hogwarts-castle-projection-show/
  11. 9. คมชัดลึก. (2560). ดูไบเปิดตัว ‘โดรนแท็กซี่อัตโนมัติ’ ลำแรกของโลก. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 จาก https://www.komchadluek.net/news/regional/297005