‘5G’ พลิกโฉมอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง
การเข้ามาของระบบเทคโนโลยีสื่อสาร 5G ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกเป็นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะเทคโนโลยี 5G ไม่ได้เป็นเพียงเครือข่ายไร้สายที่จำกัดการเชื่อมต่อเพียงมือถือเท่านั้น แต่ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถในเรื่องของความเร็ว ทำให้เทคโนโลยี 5G มีศักยภาพในการเชื่อมอุปกรณ์ทุกชนิดที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ หรือที่เราเรียกว่า Internet of Thing (loT) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดนวัตกรรมและบริการรูปแบบใหม่
ด้วยคุณสมบัติที่รองรับการรับส่งข้อมูลจำนวนมากด้วยความเร็วสูงและเสถียร ทำให้หลายภาคอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยี 5G มาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจ อ้างอิงจากการศึกษาของ Qualcomm บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมชั้นนำ จากสหรัฐอเมริกา เรื่องแนวโน้มของเทคโนโลยี 5G ระบุว่า ภายในปี 2035 เทคโนโลยี 5G จะเข้ามาทำรายได้ให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะสร้างรายได้ GDP สะสมระหว่างปี 2020-2035 อยู่ที่ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากผลสำรวจจากบริษัท Ericson ผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ระบุว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และขนส่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแรกๆ ที่มีความต้องการจะใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อเพิ่มโอกาสทางทางธุรกิจมากที่สุด ประกอบกับนวัตกรรมที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งใกล้ตัวที่เราสามารถเห็นได้ในชีวิตประจำวัน จากเหตุผลข้างต้นทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากทั้งภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภค
ภาพรถยนต์ขับเคลื่อนแบบไร้คนขับ (Autonomous Vehicles) วิ่งบนท้องถนนคงเป็นจริงในอีกไม่นาน ซึ่งขบวนการทำงานของรถยนต์ไร้คนขับแบบสมบูรณ์ เกิดจากการรวบรวมเทคโนโลยีหลากหลายแขนงมาประยุกค์เข้าด้วยกัน ตั้งแต่การนำเทคโนโลยี IoT มาใช้กับกล้องติดรถยนตร์ และเซ็นเซอร์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจจับวัตถุรอบคันรถ การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial (AI) เข้ามาช่วยควบคุมการขับเคลื่อนของรถยนต์ ร่วมกับ Big Data Analytics ที่ช่วยยกระดับความอัจฉริยะในการขับขี่ ซึ่งข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านี้ถูกส่งผ่านเทคโนโลยี 5G ภายในเสี้ยวนาที เพื่อช่วยในการสื่อสารและเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน
ในประเทศไทยเริ่มมีการทดสอบเทคโนโลยี 5G ใน Use Case แบบรถยนต์ไร้คนขับควบคุมแบบทางไกล ด้วยความร่วมมือของ บริษัท AIS กับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เดินทางระหว่างกรุงเทพ ไป สงขลา ซึ่งในกรณีนี้ตัวรถจะถูกควบคุมจากระยะทางไกล โดยทำการบังคับรถให้เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ต้องการ โดยข้อมูลต่างๆ ถูกส่งต่อมาจากระบบ VDO Analytics และยังสามารถทำการ Steaming VDO กลับมายังผู้ควบคุมรถผ่านเทคโนโลยี 5G
เทคโนโลยีหลักที่ทำให้รถยนต์ไร้คนขับใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบ คือ V2V (Vehicle to Vehicle communication) เทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างรถยนต์ด้วยกันเองซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในการติดต่อสื่อสาร ส่งข้อมูลเกี่ยวกับการขับขี่และการจราจรถึงกัน ด้วยความรวดเร็วและแม่นยำ นอกจากนี้ยังมีการขยายขอบเขตของสื่อสาร ด้วยการพัฒนาให้รถยนต์สามารถสื่อสารกับทุกสิ่งได้ หรือที่เรียกว่า V2X (Vehicle to Anything) โดยภาพที่เห็นชัดที่สุดคือการสื่อสารระหว่างรถยนต์กับ Infrastructure บนท้องถนน เช่น เสาไฟฟ้า ทางเดิน อาคาร ที่สามารถติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารระหว่างเครือข่ายได้
ในหลายประเทศมีการเดินหน้าเตรียมความพร้อมขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับการเข้าสู่ “ยุคแห่งรถยนต์อัจฉริยะ” แบบเต็มตัว ที่นครหนานหนิง ประเทศจีน มีการริเริ่มก่อสร้างโครงการนำร่อง “ทางด่วนอัจฉริยะ” (Smart Highway) สายแรกของมณฑล ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีสื่อสารแบบ V2X มาใช้เป็นหัวใจหลักในการสื่อสาร โดยมีการจัดตั้งสถานีฐานเครือข่าย 5G ห่างกันทุก 125 เมตร ตลอดเส้นทางความยาวกว่า 25.8 กม.
เราสามารถพูดได้ว่า นวัตกรรม V2V และ V2X คือสิ่งที่เข้ามาเสริมความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างแท้จริง เนื่องจากรถยนต์สามารถสื่อสารรับส่งข้อมูลของรถยนต์แบบเรียลไทม์ เช่น ตำแหน่งของรถยนต์, ความเร็ว, อัตราเร่ง รวมไปถึงทิศทางในการขับขี่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถูกเก็บผ่านกล้องวิดีโออัตโนมัติแบบ Advanced Driver Assistance Systems (ADAS) หรือเซ็นเซอร์ และถูกนำมาวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ เมื่อพบพฤติกรรมเสี่ยงทั้งจากผู้ขับขี่และสิ่งแวดล้อมภายนอก โดยข้อมูลจะถูกส่งต่อผ่านระบบ cloud ไปยังไปยังอุปกรณ์เตือนภัย เพื่อช่วยแจ้งเตือนผู้ขับขี่ล่วงหน้าหากมีแนวโน้มจะเกิดอุบัติเหตุได้อย่างทันท่วงที
บริษัท สแกนเนีย ผู้ผลิตรถขนาดใหญ่เพื่อการพาณิชย์จากประเทศ สวีเดน ได้ทำการพัฒนานวัตกรรม ‘สแกนเนีย พลาทูนนิ่ง (Scania Platooning)’ ซึ่งออกแบบมาเพื่อควบคุมการขับขี่ที่เชื่อมต่อเป็นรูปขบวนผ่านเทคโนโลยี 5G โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่ ลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
สำหรับหลักการทำงานนนั้นใช้เทคโนโลยี 5G ช่วยในการทำงานแบบครบวงจรตั้งแต่การออกตัว หยุดรถ บังคับทิศทาง ไปจนถึงการกำหนดความเร็ว ซึ่งมีรถนำขบวนทำหน้าที่ในการออกคำสั่งหลักในการปฏิบัติงานและส่งต่อไปยังรถในขบวน นอกจากนี้ยังมีระบบเซนเซอร์ทำงานร่วมกับกล้อง ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมประมวณผลและส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังรถในขบวนให้รับทราบถึงเหตุผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับรถในขบวน
เทคโนโลยี 5G จะเข้ามายกระดับประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ ด้วยการพัฒนาการทำงานของระบบ GPS ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยจะมีประโยชน์ในการช่วยติดตามการขนส่งตั้งแต่ต้นทางจนจบปลายทางแบบเรียลไทม์ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกลซึ่งเข้าถึงได้ยาก รวมถึงช่วยวางแผนเส้นทางการขนส่งที่ดีที่สุด ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งอีกทั้งยังประหยัดเวลาให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้รับสินค้า ในอนาคตหากเทคโนโลยี 5G ถูกพัฒนาไปอีกระดับ ไม่เพียงแต่การติดตามการเดินทางของพัสดุ แต่ยังครอบคลุมไปถึงการเช็คสถานะของสินค้า เช่น อุณหภูมิ แรงกระแทก ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายของสินค้าระหว่างการขนส่งได้อีกด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยี 5G เป็นหัวใจสำคัญที่สร้างการเชื่อมต่อไร้ขีดจำกัดในยุคดิจิตอล ซึ่งไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงโลก แต่ยังพลิกรูปแบบวิถีการใช้ชีวิตของมนุษย์ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของทุกภาคอุตสาหกรรมในการนำเทคโนโลยี 5G ไปสร้างโอกาสทางธุรกิจที่จะก่อให้เกิดมูลค่าอย่างมหาศาล