Metaverse , NFTs และ Blockchain เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก โอกาสใหม่สำหรับธุรกิจในโลกแห่งอนาคต

“ภายในปี 2026 คาดว่าคนกว่า 25% จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงใน Metaverse”

        ถ้าใครที่อ่านข่าวหรือติดตามเรื่องราวของเทคโนโลยีอยู่บ้างในช่วงที่ผ่านมาคงได้ยินคำว่า “Metaverse” (เมต้าเวิร์ส) ในเนื้อข่าวอยู่ค่อนข้างบ่อย สำหรับคนที่คลุกคลีในวงการเทคโนโลยีมานานแล้วจะพอทราบดีว่าไอเดียของมันไม่ใช่เรื่องใหม่

 

เทรนด์ Metaverse ในอนาคต โลกเสมือนจริงแบบไร้พรมแดนที่คนและธุรกิจต่างให้ความสนใจ

 

        แนวคิดของ Metaverse นั้นถูกกล่าวถึงอย่างมากหลังจากนิยายไซไฟ “Snow Crash” ที่เขียนโดย “Neal Stephenson” นักเขียนชาวอเมริกันในปี 1992 ถูกตีพิมพ์ โดยในหนังสือเล่มนี้เขาพูดถึงจักรวาลดิจิทัลในอนาคต (Meta = เหนือกว่า, เกินขอบเขต ส่วน Verse = จักรวาล) เป็นโลกเสมือนจริงที่สามารถเข้าถึงด้วยอุปกรณ์เสริมอย่างแว่นตา VR (Virtual Reality) หรือ เทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง AR (Augmented Reality)  ซึ่งถ้าใครยังนึกภาพไม่ออกนักให้ลองคิดถึงภาพยนตร์อย่าง The Matrix หรือ Ready Player One ก็สร้างขึ้นมาจากไอเดียนี้เช่นเดียวกัน

        สิ่งที่ทำให้ Metaverse กลายเป็นที่สนใจก็เพราะว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอใหญ่ผู้ก่อตั้ง Facebook (ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Meta แล้ว) ได้ประกาศเมื่อช่วงปลายปี 2021 ว่า Metaverse นั้นคือหนทางที่ Facebook กำลังจะเดินหน้าไปต่อ ถึงขั้นที่ว่าเปลี่ยนชื่อบริษัท Facebook ให้เป็น Meta เพื่อจะเน้นย้ำเป้าประสงค์นี้เลยทีเดียว

 

Metaverse, NFTs และ Blockchain เกี่ยวกันยังไงหล่ะ?

        แม้ว่าจะมีหลากหลายแนวคิดว่าสุดท้ายแล้ว Metaverse จะออกมาในรูปแบบไหนกัน (ซึ่งจริง ๆ ก็ยังไม่มีใครรู้) แต่อย่างน้อยสิ่งที่ดูแล้วน่าจะเกิดขึ้นแน่นอนคือว่ามันจะเป็นวิวัฒนาการที่สำคัญต่อไปของอินเทอร์เน็ต จากเว็บไซต์ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อความ และระบบนิเวศน์แบบปิดในปัจจุบัน ให้ไปอยู่ในรูปแบบ 3 มิติที่มีการใช้งานทับซ้อนร่วมกันระหว่างผู้ใช้งานที่ตอบโต้กันด้วยสิ่งที่เรียกว่า “Avatar” หรือตัวละครที่เราใช้แทนตัวเองในโลกเสมือนนั่นเอง

        รูปแบบของการใช้งานถูกเสนอในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การแฮงค์เอาท์ด้วยกัน ทำงานร่วมกัน เล่นเกมด้วยกัน ซื้อของช้อปปิ้ง หรือแม้กระทั่งจัดงานอีเว้นท์แบบออนไลน์ ซึ่งการทำงานของ Metaverse จะไม่ได้อยู่บนเว็บไซต์เดียวหรือแพลตฟอร์มเดียว (เหมือนอย่าง Facebook หรือ Amazon) แต่จะเป็นการเชื่อมต่อกันระหว่างปลายทางหลาย ๆ แห่งในรูปแบบออนไลน์แล้วเราก็ย้ายไปมาระหว่าง Metaverse ต่าง ๆ ด้วยตัว Avatar ของเรา

 

Facebook เปิด Metaverse ให้ทุกคนเข้าไปประชุมงานเสมือนได้

 

        ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่นเราเข้าไปที่ Metaverse ของ Facebook เพื่อไปแฮงค์เอาท์กับเพื่อน อาจจะนั่งคุยกันประชุมในห้องทำงานเสมือน อยากไปช้อปปิ้งก็ย้ายโลกเสมือนไปเดินห้างของ Amazon แล้วเลือกซื้อของหยิบใส่ตะกร้าแล้วคิดเงินจ่ายตังค์ ต่อไปอาจจะไปนั่งพักผ่อนที่บ้านเสมือนข้างชายหาดไมอามี่แล้วฟังเสียงคลื่นมองวิวพระอาทิตย์ตกดิน

        หรือต่อไปเราก็จะได้เห็นการจัดอีเว้นท์ออนไลน์ในโลกของ Metaverse มากขึ้น มีเครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาซัพพอร์ต เมื่อมีเครื่องมือที่ดีก็จะช่วยสร้างบรรยากาศให้คนมีส่วนร่วมกันได้มากขึ้น สื่อสาร และสร้าง Collaboration ที่ดี

        ปัจจุบัน PTT Digital ก็ได้มีการศึกษาเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อซัพพอร์ตงานอีเว้นท์ในโลก Metaverse มากขึ้น โดยได้ทดลองใช้ tool ดังกล่าวในการจัดงาน event ภายในองค์กรที่ผู้เข้าร่วมงานทุกคนมี Avatar เป็นของตนเอง รวมถึงออกแบบตกแต่งสร้างห้อง และสถานที่จัดงานด้วยตนเอง ซึ่งก็สร้าง experience แปลกใหม่ให้กับผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างดี ทั้งนี้จากการทดลองใช้งานดังกล่าว พบว่าการจัดงานในรูปแบบดังกล่าวยังคงต้องพิจารณากระบวนการก่อนและหลังการจัดงาน ซึ่ง tool ต่าง ๆ อาจยังไม่รองรับทั้ง Value Chain การทำงาน เช่น การประชาสัมพันธ์ การเปิดลงทะเบียนเข้างาน การจัดเตรียม content ในงาน และการกำหนดออกแบบกิจกรรมในงานเป็นต้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการ deploy tool ดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจัดงาน event ที่สร้างบรรยากาศและสีสันในการเข้าร่วมงาน แต่ยังคงมีงานส่วนอื่น ๆ ที่ยังต้องอาศัยการบริหารงานของทีมงาน ซึ่ง PTT Digital เองก็พิจารณาออกแบบบริการที่จะมาช่วยเติมเต็มกระบวนการทำงานในส่วนนี้ให้กับผู้ใช้บริการ

        สิ่งที่หลาย ๆ คนสงสัยคือว่าแล้วแบบนี้ถ้าเราย้ายโลกเสมือนไปมาระหว่างแพลตฟอร์มต่าง ๆ สิ่งที่เราซื้อไว้ในโลกเสมือนแห่งหนึ่งจะใช้ได้ทุกที่รึเปล่า? นั้นคือสิ่งที่เทคโนโลยีอย่าง NFTs และ Blockchain เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

        การมาของ NFT ที่อยู่บน Blockchain นั่นทำให้ผู้พัฒนาสามารถสร้างมาตรฐานร่วมกันได้ ผู้ใช้งานสามารถทำซ้ำและถ่ายทอดคุณลักษณะที่พวกเขาสร้างมาใช้กับ NFT ทั้งหมดได้ เพราะฉะนั้นมันจึงเหมาะมากสำหรับการแสดงความเป็นเจ้าของของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างพวกไอเทมใน Metaverse

 

NFTs มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Non-Fungible Tokens ที่หมายถึงสิ่งนั้นมีเพียงชิ้นเดียวและมีเจ้าของเพียงคนเดียวเท่านั้น

 

แล้วทำไม Metaverse ถึงสำคัญ?

        สิ่งที่ทำให้ Metaverse น่าสนใจคือการมี Blockchain อยู่เบื้องหลังทำให้เกิดการ ‘เป็นเจ้าของ’ ทรัพย์สินทางดิจิทัลอย่างแท้จริง

        Metaverse จะไม่ใช่เพียงพื้นที่แฮงค์เอาท์เล่นเกมเท่านั้น แต่เปิดโอกาสในการสร้างรายได้สำหรับคนที่อยู่ในระบบนิเวศน์ทั้งผู้ใช้งานและครีเอเตอร์ผู้สร้างผลงานได้ด้วย เช่น เราเป็นเจ้าของที่ดินผืนหนึ่งใน Metaverse ซึ่งที่ตรงนี้เปรียบเสมือนย่านสยามของกรุงเทพฯ ที่มูลค่าที่ดินสูงมากเพราะมีคน (ในกรณีของเราก็ Avatar) เดินผ่านไปผ่านมาเยอะ เราก็อาจจะเปิดเป็นร้านกาแฟเสมือนให้ตัวละครมาแฮงค์เอาท์กันได้ อาจจะเช่าห้องประชุมแล้วจ่ายด้วยเหรียญคริปโต เป็นต้น

 

 

        ถ้าให้ยกตัวอย่างที่ชัดเจนและเกิดขึ้นมาแล้วก็อย่างตอนที่ ทราวิส สกอตต์ (Travis Scott) จับมือกับบริษัท Epic Games เพื่อสร้างคอนเสิร์ตเสมือนบนโลกของเกม Fortnite ในปี 2020 เพื่อให้เหล่าแฟนเพลงและเกมเมอร์เจ้ามาฟังกันถึงห้ารอบ มีคนเข้าร่วมงานถึง 12 ล้านคน

 

Shopping in the metaverse with CEEK

 

        Metaverse ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเรื่องการประชุม อีเวนท์ หรือเกมเพียงเท่านั้น ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่าง e-Commerce, Medical หรือแม้แต่ Engineering ยกตัวอย่าง Amazon เจ้าแห่ง e-Commerce ที่กำลังขยับเข้าสู่ตลาด Metaverse ด้วยเช่นเดียวกัน ต่อไปการเดินเลือกซื้อของในห้างที่อยู่ใน Metaverse จะให้ความรู้สึกเหมือนไปเดินเลือกซื้อเอง หรือแบรนด์แว่นตาชื่อดังอย่าง Warby Parker ก็มีฟีเจอร์ที่เรียกว่า Virtual Try-on ที่เราสามารถเอากรอบแว่นของร้านมาลองบนใบหน้าของเราผ่านเทคโนโลยี ?AR ได้เลย

 

Digital Twins ตัวตนฝาแฝดในโลกเสมือน

 

        ในทางการแพทย์เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ Digital Twin หรือตัวตนฝาแฝดคนไข้ในโลกเสมือนมาบ้างแล้ว ซึ่งก็คือตัวคุณเองในโลกดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นมาจากข้อมูลรหัสพันธุกรรมและข้อมูลทางชีวภาพจากผลตรวจเลือด ข้อมูลสัญญาณชีพและไลฟ์สไตล์แบบเรียลไทม์จาก IoT ตั้งแต่ Smart Watch และ Smart Clothing ที่คุณใส่ ไปจนถึง Smart Home ที่คุณอยู่ ซึ่งเมื่อคุณไปตรวจสุขภาพในโลกเสมือนกับคุณหมอในโรงพยาบาลใน Metaverse คุณก็จะได้รับผลการตรวจที่มาจากตัวตนฝาแฝดของคุณที่มีข้อมูลของตัวคุณจริง ๆ แถมไม่พอแพทย์ยังสามารถทำการทดลองรักษาคุณในโลก Metaverse เพื่อที่จะดูว่าตัวตนเสมือนของคุณตอบสนองยังไงก่อนจะรักษาตัวคุณจริง ๆ ด้วย

        นอกจากเรื่อง Digital Twin แล้ว แพทย์ยังสามารถใช้ ?Metaverse เพื่อฝึกซ้อมการรักษาที่ซับซ้อนอย่างเช่นการผ่าตัดเสมือนจริง (Surgery Simulation) หรือการเรียนการสอนที่ต้องทำกับคนจริง ๆ จะมีความจำเป็นน้อยลง เพราะเด็กนักเรียนสามารถเรียนรู้ผ่าน Metaverse และฝึกผ่าตัดในโลกเสมือนโดยไม่ต้องออกไปที่มหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ

 

Metaverse จะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงถึง 8 แสนล้านเหรียญ (ประมาณ 24 ล้านล้านบาท) ภายใน 2024

 

Metaverse จะมาในรูปแบบไหน? จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่?

        ถ้ามีโอกาสได้ดูวีดีโอเปิดตัว Metaverse ของ Facebook จะเห็นว่ามันจะเห็นเป็นโลกสามมิติ ที่เราสวมแว่นตา VR แล้วสามารถเข้าไปใช้ชีวิตในนั้นได้เลย เปลี่ยนเสื้อผ้าที่บ้าน ย้ายไปห้องประชุมออนไลน์กับเพื่อนร่วมงาน หลังจากนั้นก็ไปแฮงก์เอาท์กับเพื่อนเล่นไพ่ด้วยกัน อาจจะไปเดินดูงานศิลปะต่อ ไปเล่นคาสิโน ตกเย็นไปดูคอนเสิร์ต เหนื่อยก็กลับมานั่งที่บ้านของตัวเอง

        แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่ามันจะไม่ใช่แค่ Facebook เท่านั้นที่สร้าง Metaverse ขึ้นมา มันจะมี Metaverse ที่เชื่อมต่อกันทั้งเล็กทั้งใหญ่ เราใช้กระเป๋าเงินคริปโตใบเดียวเพื่อจะเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลของเราได้ทุกแห่ง มันจะเปิดกว้าง สลับสับเปลี่ยนกันไปมาโดยใช้มาตรฐาน Blockchain เดียวกัน

 

Tinder พัฒนา Metaverse ของตัวเอง ที่จะทำให้เราสามารถเที่ยวกับคู่เดทในโลกออนไลน์ก่อนนัดเจอตัวจริง

 

        นอกจาก Facebook แล้วก็มีบริษัทอื่น ๆ อีกมากมายอย่าง Tencent ก็กำลังทุ่มทรัพยากรมากมายเพื่อสร้าง Metaverse หรืออย่าง Microsoft เองก็ซื้อ Activision ไปเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ถ้ามาทาง Lifestyle ก็จะเห็นบริษัทอย่าง Tinder แอพพลิเคชั่นหาคู่ออนไลน์ก็เริ่มมีข่าวว่าพัฒนา Metaverse ของตัวเอง โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เส้นแบ่งระหว่าง Online / Offline นั้นหายไป สมมุติว่าเกิดการ Match กันเรียบร้อยแล้ว แทนที่จะรอนัดเดทเพื่อให้ทานข้าวเย็นด้วยกัน ก็อาจจะไปเดินเล่นกันใน Metaverse ไปช้อปปิ้ง เล่นเกม หรือฆ่ามังกรและเรียนรู้นิสัยกันผ่าน Avatar ก่อนจะตัดสินใจเจอกันก็ได้ ซึ่งยังมีบริษัทสตาร์ทอัพอีกมากมายที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโลกของ Metaverse ให้เป็นจริงขึ้นมา

        ส่วนหนึ่งที่ทำให้เวลาได้ยินเรื่อง Metaverse แล้วหลายคนอาจจะเบือนหน้าหนี เพราะนี่เป็นเรื่องในอนาคตที่ยังไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจนเลยว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ (ในรูปแบบที่เราคาดคิด) อาจจะห้าปี อาจจะสิบปีไม่มีใครทราบได้ ตอนนี้ยังถือว่าเป็นช่วงต้น ๆ ของการพัฒนาเทคโนโลยีทั้ง Blockchain, NFTs และ Metaverse เลย คล้าย ๆ กับช่วง 80’s ที่อินเทอร์เน็ตยังเป็นเทคโนโลยีที่รู้จักโดยคนเพียงไม่กี่คนบนโลกใบนี้เท่านั้น 

        นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับ Metaverse มันยังต้องพัฒนาอีกเยอะมากกว่าที่จะพร้อมให้ผู้บริโภคทั่วไปใช้งาน แต่การเข้าใจและเรียนรู้ถึงเทคโนโลยีนี้ไว้ตั้งแต่ตอนนี้สร้างความได้เปรียบและเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจไม่น้อยเลย

        เว็บไซต์ Bloomberg คาดการณ์เอาไว้ว่า Metaverse จะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงถึง 8 แสนล้านเหรียญ (ประมาณ 27 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2024 อย่างไรก็ตามคงจะอีกสักพักกว่าเราจะได้ไปใช้ชีวิตกันใน Metaverse จริง ๆ และถึงแม้ว่าทุกอย่างจะยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับ Metaverse แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นกันตอนนี้คือทั้งสตาร์ทอัพ นักลงทุน คนที่สนใจในเทคโนโลยีและบริษัทน้อยใหญ่ต่างเชื่อว่า Metaverse คืออนาคตและเชื่อว่ามันจะสร้างรายได้กลับคืนมาอย่างมหาศาลจากการลงทุนตั้งแต่ตอนนี้

 

แหล่งอ้างอิง :

https://www.laptopmag.com/features/whats-the-metaverse 

https://www.bloomberg.com/professional/blog/metaverse-may-be-800-billion-market-next-tech-platform/ 

https://decrypt.co/78511/chicago-nft-gallery-imnotart-ethereum-metaverse 

https://decrypt.co/resources/what-is-the-metaverse-immersive-nft-virtual-world

https://thewild.com/blog/metaverse-aec

https://hellofuture.orange.com/en/journey-through-the-metaverse-digital-twins-are-synchronizing-the-physical-and-virtual/ 

https://techcrunch.com/2019/02/04/warby-parker-dips-into-ar-with-the-launch-of-virtual-try-on/