เส้นทางแห่งการสร้างการยอมรับ
‘LGBTQIA+’ และ ‘เทคโนโลยี’ ที่เป็นสื่อกลาง
‘Pride Month’ เดือนแห่งการเฉลิมฉลองของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA+ ซึ่งมักพบเห็นการเดินขบวนรณรงค์ เฉลิมฉลอง หรือการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงเดือนมิถุนายน พร้อมกับสัญลักษณ์ ‘ธงสีรุ้ง’ ที่ถูกประดับอยู่ทั่วเมือง รวมไปถึงถูกทาสีลงบนท้องถนนในใจกลางเมืองใหญ่
เมื่อมองย้อนกลับไป การเฉลิมฉลองที่เห็นในทุกวันนี้เกิดจากเส้นทางการต่อสู้อันยาวนานเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิความเท่าเทียม การยอมรับ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประวัติศาสตร์จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศที่บากบั่นต่อสู้เพื่อปูทางสู่ความเสมอภาคในทุกด้าน
ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน เส้นทางการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ถูกยกระดับขึ้นจากหลากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือเครื่องมือทางเทคโนโลยี ซึ่งกลายเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้
ในเดือน Pride Month นี้ PTT Digital ขอเชิญชวนทุกคนมาค้นหาว่า เทคโนโลยีจะก้าวเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนสิทธิของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศได้อย่างไร เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นสร้างอนาคตที่ทุกคนได้รับการยอมรับและมีความภาคภูมิใจในตัวตนอย่างเต็มภาคภูมิ
เส้นทางแห่งความภาคภูมิและการต่อสู้
‘กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ’ หรือที่เรียกโดยย่อในภาษาอังกฤษว่า ‘LGBTQIA+’ มาจากการรวมตัวย่อของอัตลักษณ์ทางเพศของกลุ่มผู้มีความหลากหลายเข้าด้วยกัน ได้แก่
-
-
L มาจาก Lesbian หมายถึง ผู้เป็นเพศหญิงที่ชอบเพศหญิงด้วยกัน
-
G มาจาก Gay หมายถึง ผู้เป็นเพศชายที่ชอบเพศชายด้วยกัน
-
B มาจาก Bisexual หมายถึง ผู้ชอบได้ทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงข้าม
-
T มาจาก Transgender หมายถึง ผู้มีเพศกำเนิดไม่ตรงอัตลักษณ์ทางเพศ
-
Q มาจาก Queer หมายถึง ผู้ไม่ได้จำกัดว่าเป็นเพศใดต้องรักกับเพศใด
-
I มาจาก Intersex หมายถึง ผู้มีภาวะเพศกำกวม ลักษณะกายภาพแตกต่างจนระบุเพศไม่ได้
-
A มาจาก Asexual หมายถึง ผู้ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศหรือต้องการความสัมพันธ์ทางเพศ
-
+ (plus) มาจาก เครื่องหมายบวก หมายถึง ความหลากหลายที่อาจจะมีนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น
|
-
ในหลายพื้นที่ทั่วโลก กลุ่ม ‘LGBTQIA+’ ต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้าน กดขี่ แบ่งแยก รวมถึงความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ ก่อนองค์กรเพื่อสิทธิ LGBTQIA+ จะเริ่มปรากฎขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19 แต่เริ่มชัดเจนขึ้นในศตวรรษที่ 20 หลังได้รับอิทธิพลจากขบวนการสิทธิพลเมืองในเวลานั้น
‘Pride Month’ เมื่อมองย้อนกลับไป ไม่ได้เริ่มต้นมาจากงานเฉลิมฉลองเหมือนปัจจุบัน แต่มาจากการจลาจลเพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติ นำไปสู่การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิ จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนของการต่อสู้ในยุคใหม่เพื่อสิทธิของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศทำให้ถูกมองเห็นจากผู้คนมากมาย
ในศตวรรษที่ 21 ช่วงเวลาที่กฎหมายรับรองสิทธิของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการรับรองมากขึ้นในหลายประเทศ หลังการต่อสู้มากกว่าทศวรรษ โดย ‘ประเทศไทย’ กลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เริ่มมีการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ตลอดจนจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจความเป็นตัวตน จนนำไปสู่การพูดถึงสิทธิของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงการผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยในปัจจุบันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ผ่านการพิจารณาวาระแรกของวุฒิสภา และกำลังเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่สองของการประชุมในสมัยถัดไป
ถือเป็นเป็นอีกก้าวที่ดีของไทยที่มีการผลักดันและพิจารณากฎหมายเพื่อความเท่าเทียมสำหรับทุกคน หากในอนาคตร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ จะถือเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศไทยในเรื่องสิทธิขั้นฐานของ LGBTQIA+
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ไม่ยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน และยังไม่ให้การยอมรับกับการดำรงอยู่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ การต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ จึงยังต้องดำเนินต่อไป
ในยุคที่เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่การเดินขบวนเรียกร้องหรือเกิดการจลาจลเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้เทคโนโลยี เพื่อเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญในการยกระดับสิทธิ LGBTQIA+ ได้อีกด้วย
‘เทคโนโลยี’ สื่อกลางสำคัญ ยกระดับสิทธิ LGBTQIA+ ตั้งแต่รากฐาน
ย้อนกลับไปในเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ‘เทคโนโลยี’ ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะการมาถึงของ ‘อินเทอร์เน็ต’ ที่ทำให้ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจได้อย่างกว้างขวาง และสามารถสนับสนุนการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ได้
-
-
-
‘เทคโนโลยี’ ช่วยเป็นแหล่งข้อมูลและแหล่งศึกษาสิทธิ LGBTQIAN+ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ : หนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนสิทธิให้กับกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ คือ การให้ความรู้และข้อมูลกับผู้ที่ต้องการศึกษาและทำความเข้าใจ ดังนั้นการสร้างแหล่งข้อมูลและยังคงจำเป็น โดยสามารถค้นหาความรู้เกี่ยวกับ LGBTQIA+ ได้บนโลกอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ขององค์กรขับเคลื่อน บนบล็อกของ Community รวมถึงในอนาคตอาจจะมี AI ที่ถูกเทรนด์มาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิ LGBTQIA+ โดยเฉพาะ
-
‘เทคโนโลยี’ ช่วยสร้างชุมชนออนไลน์ เปิดพื้นที่ปลอดภัย : ‘ชุมชนออนไลน์’ คือ “ชุมชนที่รวมกลุ่มคนที่มีความสนใจหรือประสบการณ์ร่วมกัน” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ในการจัดการปัญหา ไปจนถึงเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ให้การยอมรับ เราสามารถใช้ชุมชนออนไลน์เพื่อการกระจายข้อมูล และความเท่าเทียม สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการกีดกันและแบ่งแยกทางเพศ โดยปัจจุบัน หลายเทคโนโลยีถูกสร้างมาเพื่อรองรับชุมชนขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่บนโซเชียลมีเดีย หรือชุมชนเสมือนจริงบน Metaverse ที่กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพูดคุยและคอยเยียวยากันในการประสานบาดแผลที่เคยเกิดขึ้นในอดีต รวมไปถึงสามารถรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ
|
-
-
-
‘เทคโนโลยี’ ช่วยเชื่อมต่อโลกทุกพื้นที่เข้าด้วยกัน : ในทุกๆ วันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘การขับเคลื่อนสิทธิ LGBTQIA+’ อยู่ทั่วทุกมุมโลก รวมถึงในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนผ่านกฎหมาย ผ่านการชุมนุม ประท้วง หรือการรณรงค์ใด ๆ ไม่ถูกจำกัดอยู่ภายในประเทศอีกต่อไป หลายครั้งแคมเปญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเริ่มต้นมาจากการประชุมผ่านวิดีโอคอล แชทผ่านแพลตฟอร์ม หรือแม้แต่ร่วมกันทำแคมเปญออนไลน์พร้อมกัน ซึ่งเทคโนโลยีจะช่วยให้ผู้คนทั่วโลกรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ และสามารถที่จะเข้าใจ รวมไปถึงสนับสนุนการขับเคลื่อนสิทธิต่าง ๆ แบบไร้พรมแดนได้
-
เทคโนโลยีช่วยสนับสนุนทางด้านสุขภาพ : เทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพทางไกล (Telehealth) ช่วยให้กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น เช่น การปรึกษาแพทย์ การรับคำแนะนำ และการรับยา โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนหรือเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในสถานพยาบาล ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้หลายคนไม่กล้าเข้ารับบริการ และเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่อย่าง (Big Data) สามารถใช้ในการศึกษาวิจัยเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ ความท้าทาย และความต้องการของ LGBTQIA+ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญต่อการพัฒนากฎหมายหรือนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพ บริการทางการแพทย์ รวมไปถึงสวัสดิการด้านการรักษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง
-
เทคโนโลยีของสื่อบันเทิง ช่วยเสริมความตระหนักรู้ได้มากว่าแค่ความบันเทิง : สื่อสตรีมมิ่งยอดนิยมอย่าง Netflix, HBO Go และ Amazon Prime ต่างก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในการนำเสนอเรื่องราวและตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศ ช่วยสร้างการมองเห็นและการยอมรับในวงกว้าง เมื่อผู้คนได้เห็นการนำเสนอชีวิตและประสบการณ์ของ LGBTQIA+ ในแง่มุมที่เป็นจริงและหลากหลายมิติ ก็จะช่วยลดอคติ ส่งเสริมความเข้าใจ และสร้างสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น
|
ในวาระของ Pride Month นี้ PTT Digital ขอเชิญชวนทุกคนให้ร่วมกันใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นพลังในการสนับสนุนสิทธิของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะด้วยการแบ่งปันข้อมูล สร้างชุมชนออนไลน์ที่เคารพซึ่งกันและกัน หรือยืนหยัดต่อต้านการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ
เพราะทุกเสียง ทุกการกระทำ ล้วนมีพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งสิ้น ซึ่งในยุคดิจิทัลนี้การใช้เทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการสร้างโลกที่เท่าเทียมและเป็นธรรมสำหรับทุกคน โดยไม่แบ่งแยกเพศสภาพและรสนิยมทางเพศ เพื่อให้ Pride Month เป็นมากกว่าแค่เทศกาลประจำปี แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินหน้าด้วยความภาคภูมิใจในตัวตนของกันและกันตลอดไป
บรรณานุกรม
IRONHACK. (2023). The Role of Technology in Advancing LGBTQ+ Rights and Social Justice. From https://www.ironhack.com/gb/blog/the-role-of-technology-in-advancing-lgbtq-rights-and-social-justice
Morris, Bonnie J. (2023). A brief history of lesbian, gay, bisexual, and transgender social movements. From https://www.apa.org/topics/lgbtq/history
BBC News Thai. (2567). สภาผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/articles/cn0edj0dq6lo
Thai PBS. (2567). ก้าวไกลโพสต์ย้อนเส้นทางกว่าจะถึง "สมรสเท่าเทียม". สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/338495