ปกป้องผู้สูงอายุในโลกดิจิทัล ความท้าทายและแนวทาง
การรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวออนไลน์
ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิต การใช้งานอินเทอร์เน็ตและเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้สูงอายุในยุคปัจจุบันอีกต่อไป ผู้สูงอายุจำนวนมากเริ่มใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการติดต่อสื่อสาร รวมไปถึงการทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ซึ่งความสะดวกสบายนี้กลับมาพร้อมกับความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้นเมื่อผู้สูงอายุหลายคนต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่มีความซับซ้อนและเป็นอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแนวทางการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมและครอบคลุม
บทความนี้ PTT Digital จะนำเสนอวิธีการและแนวทางที่สามารถช่วยผู้สูงอายุให้รักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของตนเองในโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภัยคุกคามทางไซเบอร์กับสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญ
แม้การใช้งานเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับใครหลายคน แต่สำหรับผู้สูงอายุบางกลุ่ม ถือเป็นความท้ายทายอย่างหนึ่งที่ต้องเผชิญ โดยภัยคุกคามที่ผู้สูงอายุจะพบได้บ่อยจะมี ดังนี้
-
-
การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต (Internet Scams) มักเกิดจากผู้ร้ายปลอมตัวเป็นหน่วยงานน่าเชื่อถือ เช่น รัฐบาล ธนาคาร หรือบริษัทประกัน เพื่อหลอกให้เหยื่อโอนเงินหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ผู้สูงอายุจึงเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของกลโกงเหล่านี้
-
-
การฟิชชิ่ง (Phishing) เป็นเทคนิคที่แฮกเกอร์ใช้เพื่อหลอกให้ผู้สูงวัยกรอกข้อมูลส่วนตัวผ่านเว็บไซต์ปลอมที่ดูเหมือนมาจากองค์กรน่าเชื่อถือ ข้อมูลที่ถูกขโมยจะถูกนำไปใช้ในการทำธุรกรรมที่ไม่พึงประสงค์ หรือขโมยตัวตนเพื่อใช้เปิดบัญชีไว้สำหรับเป็นช่องทางในการกระทำผิดกฎหมาย
-
-
มัลแวร์และไวรัสคอมพิวเตอร์ เป็นภัยคุกคามที่สามารถทำลายระบบหรือขโมยข้อมูลส่วนตัว มักจะเข้าสู่คอมพิวเตอร์ผ่านการดาวน์โหลดไฟล์ที่ไม่ปลอดภัย คลิกลิงก์ในอีเมล หรือเข้าชมเว็บไซต์ที่มีมัลแวร์ ทำให้ระบบทำงานผิดปกติ ขโมยข้อมูล หรือเรียกค่าไถ่
-
-
การละเมิดความเป็นส่วนตัวบนโซเชียลมีเดีย เกิดขึ้นเมื่อผู้สูงอายุแชร์ข้อมูลส่วนตัวลงบนแพลตฟอร์มออนไลน์แบบสาธารณะ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกสอดแนม ขโมยข้อมูล หรือโจมตีทางไซเบอร์จากผู้ไม่หวังดี
|
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถป้องกันภัยคุกคามออนไลน์อยู่มากมาย โดยครอบครัวที่มีผู้สูงอายุควรดูแล ให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุเพื่อเป็นการปกป้องจากภัยคุกคามเหล่านี้ ให้พวกเขาสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัยและมั่นใจ
เทคโนโลยีและเครื่องมือเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ
การเลือกใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ โดยคนในครอบครัวจะต้องคำนึงถึงเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพในการป้องกันผู้สูงอายุจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่างๆ รวมไปถึงลดขั้นตอนความซับซ้อนที่อาจก่อให้เกิดความสับสนในการใช้งาน และช่วยให้รักษาความปลอดภัยทางออนไลน์ได้อย่างมั่นใจ
-
-
-
-
ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส เลือกใช้ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสที่ออกแบบให้ใช้งานง่ายและทำงานอัตโนมัติในการตรวจจับและกำจัดไวรัส พร้อมอัปเดตตัวเองเพื่อป้องกันภัยคุกคามใหม่ๆ
-
-
-
เครื่องมือจัดการรหัสผ่าน Google Password Manager เป็นเครื่องมือจัดการรหัสผ่านที่เหมาะกับผู้สูงอายุ เนื่องจากเชื่อมกับบัญชี Google มีหน้าที่ช่วยสร้างรหัสผ่านที่แข็งแรง และจดจำรหัสผ่านต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย และเพิ่มความปลอดภัยอีกขั้นในการเข้าถึงแอคเคาท์ด้วยการยืนยันตัวตนสองชั้น (2FA)
-
-
-
เครื่องมือตรวจจับและป้องกันการหลอกลวงออนไลน์ Google Safe Browsing เป็นเทคโนโลยีใน Google Chrome ที่ช่วยป้องกันผู้ใช้จากเว็บไซต์ที่เป็นอันตราย โดยจะแจ้งเตือนทันทีเมื่อพบว่าเว็บไซต์ไม่ปลอดภัย
|
การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้สูงอายุในครอบครัวสามารถรักษาความปลอดภัยในโลกออนไลน์ได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยเสริมความมั่นใจในการใช้งานอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในชีวิตประจำวันอีกด้วย
ทำอย่างไรหากตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์
เมื่อผู้สูงอายุหรือคนในครอบครัวตกสู่สถานการณ์ที่มั่นใจแล้วว่ากำลังเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในโลกไซเบอร์ คนอื่นๆ ในครอบครัวควรตั้งสติให้ดี และดำเนินการแจ้งความตามขั้นตอนดังนี้
-
-
-
-
-
ติดต่อธนาคาร โดยทางธนาคารจะออก BANK CASE ID เพื่อให้นำไปแจ้งความ โดยจะประสานงานอายัดบัญชีปลายทาง ให้ทันทีเป็นเวลา 72 ชั่วโมง
-
-
-
-
รวบรวมหลักฐานการโดนโกงทั้งหมด เช่น ข้อความหลอก บัญชีที่ทำการโอนเงินไป แชตที่คุยกัน และหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
-
แจ้งความเพื่อดำเนินคดี โดยให้ผู้เสียหายไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ หรือแจ้งความออนไลน์ที่ thaipoliceonline.go.th
-
จากนั้นเจ้าหน้าที่สืบสวนจะพิจารณาคำร้อง และออกเอกสาร
-
ผู้เสียหายนำเอกสารจากเจ้าหน้าที่สืบสวน ไปดำเนินการต่อที่ธนาคารในขั้นต่อไป
|
อนาคตของความปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับผู้สูงอายุ
ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มตัว การพัฒนาระบบจะคำนึงถึงหน้าตาที่ใช้งานง่าย เข้าใจง่ายเพื่อให้เข้าถึงได้กับกลุ่มคนสูงอายุ และนอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาภัยคุกคามจากออนไลน์ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดทำโครงการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ นอกจากนี้การติดตามข่าวสารอยู่เสมอก็มีส่วนช่วยอย่างมากให้ไม่ตกไปเป็นเหยื่อ ตัวผู้สูงอายุเองก็ต้องคำนึงถึงการแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนสื่อออนไลน์ให้มากขึ้นเพื่อป้องกันการถูกคุกคามทางไซเบอร์
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือคนในครอบครัวควรดูแลการใช้สื่อของผู้สูงอายุในบ้านอย่างใกล้ชิด เน้นการใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวเพื่อลดการใช้เครื่องมือสื่อสารโดยไม่จำเป็นให้มากขึ้น นอกจากช่วยลดอัตราการโดนโกงแล้วยังช่วยสานสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้เป็นอย่างดี
ความสำคัญของการสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับผู้สูงอายุ
การสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการตกเป็นเหยื่อของภัยคุกคามทางไซเบอร์ ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนที่จะช่วยปกป้องไม่ให้ผู้สูงวัยกลายเป็นเหยื่อทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือครอบครัวเอง
ในการพัฒนานโยบายและเทคโนโลยีที่คำนึงถึงความต้องการของผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก นโยบายเหล่านี้ควรมีความชัดเจนและครอบคลุมทุกด้านของความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นควรเน้นที่การใช้งานง่ายและปลอดภัย เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องภัยคุกคามทางไซเบอร์
การสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับผู้สูงอายุไม่เพียงแต่จะช่วยปกป้องพวกเขาจากความเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างความมั่นใจและความสุขในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลอีกด้วย ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาและสนับสนุนการใช้งานเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย จะนำไปสู่สังคมที่ทุกคนในทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโลกดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมกัน
บรรณานุกรม