โครงการ D-NEXT ก้าว(กระโดด)สำคัญต่อไปของกลุ่มปตท.
เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจดิจิทัลใหม่ ให้บริษัทในกลุ่ม ปตท. เติบโตแบบก้าวกระโดด ตอบโจทย์การสร้าง New S Curve กลุ่มปตท. โดย PTT Digital ร่วมมือกับ RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรและสตาร์ทอัพ จัดทำโครงการ “D-NEXT by PTT Digital x RISE” ค้นหาและคัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพจากทั่วโลก เข้ารับการอบรมกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจและเทคโนโลยี เสริมสร้างศักยภาพกิจการให้เติบโต พร้อมโอกาสในการดำเนินธุรกิจร่วมกับกลุ่ม ปตท.
โครงการ D-NEXT เปิดตัวเมื่อเดือนมกราคม 2561 พร้อมเปิดรับสมัครสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มปตท. จะได้สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูง เช่น มีความน่าเชื่อถือในระดับสากล มีผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาส Scale Up มีความเหมาะสมและความพร้อมที่จะต่อยอดด้านเทคโนโลยีที่เข้ากับธุรกิจต่างๆของกลุ่มปตท. เป็นต้น มาเข้าร่วมโครงการ PTT Digital และ RISE จึงเดินทางไปค้นหาสตาร์ทอัพจาก 5 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม พร้อมเปิดรับสมัครออนไลน์ทั่วโลก รวมผู้สมัครกว่า 300 ทีม จาก 22 ประเทศใน 3 ทวีป ตั้งแต่อเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย
ขณะนี้ การคัดเลือกได้เสร็จสิ้นแล้ว มีสตาร์ทอัพที่ผ่านเข้าร่วมโครงการ พร้อมเร่งสปีดธุรกิจไปกับกลุ่ม ปตท. ทั้งสิ้น 15 ราย จาก 7 ประเทศ ดังนี้
1. ทีม OneWatt จากประเทศฟิลิปปินส์ : บริการอุปกรณ์ sensors พร้อมระบบ machine learning ช่วยตรวจจับมอเตอร์ด้วยเสียง เพื่อวางแผนป้องกัน ก่อนที่มอเตอร์จะชำรุด (Predictive maintenance)
2. ทีม BBP จากประเทศสิงคโปร์ : ระบบเพิ่ม-ลด อุณหภูมิอัตโนมัติให้กับระบบทำความเย็นในอุตสาหกรรมและอาคารพาณิชย์ โดยใช้ Intelligent Algorithms และอุปกรณ์อื่นๆ สามารถใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายในการจัดการงานซ่อมบำรุง
3. ทีม EverComm จากประเทศสิงคโปร์ : บริการบันทึกและตรวจสอบข้อมูลการใช้พลังงานผ่าน sensors ต่างๆ ในโรงงาน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และแนะนำการตั้งค่าอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า โดยใช้เทคโนโลยี AI และอื่นๆ
สตาร์ทอัพด้าน Operation & Maintenance
4. ทีม Systemstone จากประเทศไทย : โมบายล์แพลตฟอร์มเพื่อการบริหารจัดการงานซ่อมบำรุง สามารถแจ้งงานซ่อมผ่านมือถือได้ โดยระบบจะส่งการแจ้งเตือนไปยังผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งหัวหน้างานสามารถตรวจสอบรายงานต่างๆ ตลอดจนมอบหมายงานได้สะดวก รวดเร็ว ผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟน
5. ทีม TrackerHero จากประเทศมาเลเซีย : ระบบบริหารจัดการ การปฏิบัติงานภาคสนาม โดยมีอุปกรณ์มือถือที่เป็น walkie talkie ในตัวมาพร้อมกับ functions ที่หลากหลาย ช่วยให้สามารถติดตามตำแหน่งการเดินตรวจตรา และลาดตระเวนได้แบบเรียลไทม์
สตาร์ทอัพด้าน Health & Environment
6. ทีม EcoWorth จากประเทศสิงคโปร์ : พัฒนาวัสดุดูดซับสารละลาย Biomass เช่น แยกน้ำมันจากน้ำได้ สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุบำบัดน้ำเสีย โดยนำกลับมา reuse ได้ราว 20-40 ครั้ง
สตาร์ทอัพด้าน Sales & Marketing
7. ทีม SalesCandy จากประเทศมาเลเซีย : ระบบบริหารจัดการรายชื่อลูกค้าออนไลน์ ช่วยให้สามารถบันทึกและส่งต่อรายชื่อแก่พนักงานขายและสรุปรายงานการติดต่อ ช่วยลดระยะเวลาในการปิดการขาย ปัจจุบันลูกค้าที่ใช้บริการ สามารถปิดยอดขายได้มากขึ้น 20-30%
สตาร์ทอัพด้าน Finance
8. ทีม HelloGold จากประเทศมาเลเซีย : โมบายล์แอพที่ดำเนินการบนระบบ Blockchain เพื่อการลงทุนทองคำ และแลกเปลี่ยนซื้อขายทองคำได้อย่างถูกต้องแม่นยำ สามารถลงทุนด้วยหน่วยลงทุนที่ต่ำ โดยเริ่มต้นขั้นต่ำเพียง 1 RM (ประมาณ 8 บาท)
9. ทีม UPUP App จากประเทศเวียดนาม : โมบายล์แอพแสดง Profile ของพนักงาน วัดผลการดำเนินงานได้แบบ Real Time มี Newsfeed ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างทีมเพื่อการสื่อสาร รวมถึงเล่นเกมสะสมคะแนนแลกของรางวัล ช่วยเพิ่ม Employee Engagement
10. ทีม HitKey จากประเทศสิงคโปร์ : แพลตฟอร์มเชื่อมต่อกับโปรแกรม chat, chatbot หรือ social app. แสดงผลเป็นปุ่ม shortcut บน keyboard เช่น เมื่อเชื่อมต่อกับ Line แล้ว ขณะที่ใช้โปรแกรม คีย์บอร์ดจะแสดงปุ่มกดชำระค่าสินค้าผ่านแอพของธนาคาร
11. ทีม Synaptik จากประเทศสหรัฐอเมริกา : โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูล และหาคำตอบทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว ช่วยให้ผู้ใช้งานมีความเข้าใจในข้อมูลมากขึ้น สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์และแสดงผลอย่างมีประสิทธิภาพ ในระยะเวลาไม่นาน
12. ทีม Glueck จากประเทศมาเลเซีย : ระบบจดจำและวิเคราะห์ใบหน้าลูกค้า สำหรับใช้ในธุรกิจค้าปลีก สามารถระบุ เพศ อายุ อารมณ์ เพื่อให้นักการตลาดสามารถนำไปวิเคราะห์ลูกค้าและวางแผนการตลาดต่อไป
13. ทีม Wisepass จากประเทศเวียดนาม : โมบายล์แอพตอบสนองไลฟ์สไตล์ลูกค้ารายได้สูง เมื่อชำระค่าบริการ 300 เหรียญสหรัฐฯต่อเดือน ก็สามารถซื้อ set อาหาร เครื่องดื่ม งาน VIP ต่างๆ กับร้านค้าที่ร่วมบริการกว่า 100 แห่ง ได้วันละครั้ง
14. ทีม NPCore จากประเทศเกาหลีใต้ : ระบบความปลอดภัยไซเบอร์ ช่วยตรวจจับและป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ เช่น การโจมตีโดยใช้เทคนิคการเจาะระบบขั้นสูงเพื่อโจรกรรมข้อมูล หรือการใช้มัลแวร์เรียกค่าไถ่ เป็นต้น
15. ทีม Classwin จากประเทศไทย : E-learning แพลตฟอร์ม สำหรับครูสร้างบทเรียนออนไลน์ เพื่อนักเรียนเข้าเรียนผ่านโมบายล์ มีฟังค์ชั่นสร้างแบบทดสอบและช่วยตรวจคำตอบอัตโนมัติ นักเรียนจะเห็นกราฟวิเคราะห์ทักษะตนแบบ Real-time ทำให้พัฒนาตนเองได้ถูกต้อง
สตาร์ทอัพทั้ง 15 ทีม จะได้นำเสนอผลงานในรูปแบบผลิตภัณฑ์ซอฟแวร์ที่ได้รับการพัฒนาแล้วตลอดการเข้าร่วมโครงการ ต่อคณะกรรมการจากบริษัทใน กลุ่ม ปตท. และนักลงทุนภายนอก ในวัน Demo Day 16 กรกฎาคม 2561* ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดโครงการ