ระดมทุนผ่าน Blockchain ยุคดิจิทัลด้วย ICO
โดย ดร.ภูมิ ภูมิรัตน
ICO คืออะไร ?
ดร.ภูมิ: ICO (อ่านว่า ไอซีโอ) หรือ Initial Coin Offering คือ วิธีระดมทุนที่ได้รับผลตอบแทนเป็นสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) โดยนักลงทุน มักจะลงทุนด้วยการนำสกุลเงินดิจิทัล อย่าง Bitcoin หรือ Etherium (เป็น 2 สกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความน่าเชื่อถือสูงสุด transactions ต่างๆ ดำเนินการบนเทคโนโลยี blockchain) มาซื้อ token (สกุลเงินที่สร้างขึ้นมาเอง) ของธุรกิจที่เพิ่งเปิดตัว หรือมีแผนจะเปิดตัวในเร็ววัน ซึ่ง token เหล่านี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของธุรกิจ ถือเป็นผลตอบแทนจากการลงทุน การเปิดขาย ICO กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่ม Tech StartUp ที่นิยมสร้างธุรกิจรูปแบบ Growth Hacking Platform คือ มีแพลตฟอร์มของผู้ใช้งานที่ขยายตัวรวดเร็ว สร้างรายได้เยอะ (เช่น Facebook, AirBnB) ซึ่งการเปิดขาย ICO จะทำให้ Start Up ได้เงินลงทุนไปต่อยอดทำธุรกิจช่วงแรกได้ไว ไม่ต้องรอ VC ( Venture Capital หรือ ผู้ร่วมลงทุน ) มาให้เงินลงทุน และตอบแทนเป็นสกุลเงินทั่วไปแบบเดิม อีกทั้งนักลงทุนยังได้รับผลตอบแทนหลายเท่า ในเวลาอันรวดเร็ว หากธุรกิจนั้น ประสบผลสำเร็จในเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน
ICO ช่วยแก้ปัญหาการระดมทุนแบบเดิมได้อย่างไร ?
ดร.ภูมิ: การระดมทุนจากสกุลเงินทั่วไป เช่น ถ้าระดมทุนจากดอลลาร์ เมื่อได้รับผลตอบแทน แต่นักลงทุนอยู่คนละประเทศ อาจพบปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ ที่ขึ้นอยู่กับภาวะทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ แต่ถ้าใช้ token แบบ ฺBitcoin หรือ Etherium จะเป็นสกุลเงินสากล ใช้ได้ทั่วโลก อีกทั้ง token ของ ICO จะผูกกับ Growth Hacking Platform (รูปแบบธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีทำให้เติบโตได้เร็ว) ทำให้นักลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเร็วขึ้น
ตัวอย่างธุรกิจที่ระดมทุนด้วย ICO เป็นแบบไหน ?
ดร.ภูมิ: ตัวอย่างเช่น ฺBanana Coin เป็นรูปแบบการระดมทุนแบบส่วนแบ่งรายได้ กล่าวคือ กลุ่มเกษตรกรปลูกกล้วยเล็บมือนางในประเทศลาว ตั้งใจจะปลูกกล้วย เพื่อส่งออกไปยังประเทศจีนที่มี demand กล้วยมาก แต่เกษตรกรกลุ่มนี้ยังขาดกำลังผลิต จึงตั้งสกุลเงินดิจิทัลชื่อว่า Banana Coin ขึ้นมา ซึ่งมูลค่าของเงินสกุลนี้ ขึ้นอยู่กับมูลค่าของการส่งออกกล้วย เพื่อระดมทุนจากนักลงทุน มาเพิ่มกำลังผลิตกล้วย ดังนั้น เมื่อกลุ่มเกษตรกร ขายกล้วยได้ ก็เอา coin ไปให้ชาวไร่ซื้อที่ ซื้อปุ๋ยมาปลูกกล้วยเพิ่ม โดยมี commitment ว่า ชาวนาต้องผลิตกล้วยให้ได้ในปริมาณและเวลาที่กำหนด ดังนั้น ถ้ากำลังผลิตเพิ่มขึ้น ปริมาณส่งออกมากขึ้น ราคากล้วยเพิ่มขึ้น Banana Coin ก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น มูลค่า Banana Coin ที่นักลงทุนถืออยู่ก็เพิ่มขึ้น โดยมูลค่าดังกล่าวอ้างอิงกับมูลค่าของ Bitcoin และ Etherium ซึ่งเป็น 2 สกุลเงินดิจิทัลที่นิยมสูงสุดทั่วโลก นำไปแลกเป็นเงินสกุลทั่วไป เช่น เงินดอลลาร์ได้จำนวนมาก (ข้อมูลเพิ่มเติม https://bananacoin.io/)
Blockchain กับ ICO เกี่ยวข้องกันอย่างไร ?
ดร.ภูมิ: Blockchain เป็นแพลตฟอร์มที่นำมาช่วยยืนยันการจ่ายปันผล ที่น่าเชื่อถือมาก โดยไม่ต้องมีคณะกรรมการ เช่น กลต. มาตรวจ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น ลดการพึ่งพา Regulator ทั้งนี้ Blockchain สามารถช่วยให้ระบบดำเนินการตามเงื่อนไขสัญญาแลกเปลี่ยนได้แบบอัตโนมัติ (การ enforce smart contract) แต่ไม่สามารถป้องกันการเชิดเงินหนีได้ ซึ่ง StartUp บางธุรกิจอาจขายฝัน
เมื่อระดมทุนได้จำนวนที่พอใจ ก็หอบเงินหนีหายไป หรือ ได้เงินไปแล้ว
ไม่สามารถส่งมอบ Product / Service ที่เป็นนวัตกรรมอย่างที่นำเสนอไว้
ผลกระทบจากนโยบายของจีนที่มีต่อ Bitcoin เป็นอย่างไร ?
ดร.ภูมิ: ผลกระทบจากการบล็อค Bitcoin ในจีน คือ คนถือสกุลเงินดิจิทัล ไม่สามารถขายเงินดิจิทัลในจีนได้ เมื่อขาดสภาพคล่อง ราคา bitcoin ก็ตก อีกทั้งรัสเซีย ประกาศว่าอาจจะแบน Bitcoin ต่อจากจีน เหตุการณ์นี้สะท้อนว่า ข่าวเพียงเล็กน้อย มีผลต่อการขึ้นลงของ Bitcoin มาก JP Morgan สถาบันการเงินที่ใหญ่สุดในโลก Top Management เคยกล่าวว่า Bitcoin ไม่มีความน่าเชื่อถือ ถ้าจับได้ว่าพนักงานคนไหนซื้อ Bitcoin จะไล่ออก แต่ในที่สุด Head Fund Manager ของ JP Morgan ก็ซื้อ Bitcoin
ทิศทางการระดมทุนของกลุ่ม Tech Startup ในไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร ?
ดร.ภูมิ: มีแนวโน้มว่า VC กำลังเปลี่ยนแนวทางจากลงทุนในสตาร์ทอัพ เป็นลงทุนใน ICO ของสตาร์ทอัพ และ CEO ของ Bank ใหญ่ๆ ลงทุนใน Cryptocurrency (สกุลเงินดิจิทัล) และกำลังจะสร้าง Cryptocurrency ของตัวเอง
ความท้าทายของ ICO คืออะไร ?
ดร.ภูมิ: ความท้าทายของ ICO คือ ไม่รู้ว่า Business Model ไหนน่าเชื่อถือ เพราะการนำเสนอ Business Model ดี เขียน White Paper ที่น่าเชื่อถือ ไม่ได้แปลว่าธุรกิจนั้นจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีได้
ICORA คืออะไร ?
ดร.ภูมิ: ICORA คือกลุ่ม Fintech ของคุณกรณ์ จาติกวาณิช ที่ก่อตั้งขึ้นด้วยความเชื่อว่า ICO เป็น Next Generation ของการระดมทุนแบบ VC และเพื่อสร้างมาตรฐานของ ICO กลุ่ม ICORA จึงต้องศึกษา หาความรู้ และส่งเสริมให้ผู้ใช้งานร่วมกันทำให้เกิดการทุจริต (Fraud) น้อยที่สุด ก่อนที่ Regulator จะรวมตัวกันออกกฏว่า ห้ามลงทุนแบบ ICO โดยการสร้างความน่าเชื่อในระบบ ICO นั้น นักลงทุนและผู้เปิดระดมทุนจะต้องสามารถยืนยันตัวตนได้ จำเป็นต้องมี Digital Identity ที่น่าเชื่อถือก่อน
แนวทางเรื่อง Digital Identity เป็นอย่างไร ?
ดร.ภูมิ: ขอให้ติดตามโครงการ Common Digital Identity Platform ที่ผมเป็นคณะทำงานร่วมกันทำ KYC (Know your customer หรือ การจัดการฐานข้อมูลลูกค้า ที่ระบุตัวตนได้) กับแต่ละธนาคาร โดยเป็นความร่วมมือกับกระทรวงการคลัง เพื่อเป็น Blockchain Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐานด้าน Blockchain) ที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการระดมทุนต่อได้ในเรื่องการยืนยันตัวตน ทั้งนี้ Concept ของ Common Digital Identity Platform ต้องการพัฒนาให้คนไทยมี digital identity ในระดับละเอียด เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการทำ transactions ต่างๆ บนโลกออนไลน์ หากมี Digital Identity เป้าหมายอนาคตคือ คนไทยอยากเปิดบัญชีที่ไหน ก็หยิบโมบายล์มากดปุ่มเดียว เปิดบัญชีได้เลย โดย Blockchain จะเข้ามาช่วยในการยืนยันตัวตน KYC ทำให้คนปลอมแปลงตนได้ยาก เพราะถ้าจะหลอกใครให้สำเร็จ ก็ต้องหลอกทั้งตัวเอง หลอกรัฐ และหลอกคนทั้งสังคมด้วย
หากในอนาคตมี PTT Coin เราสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างไร ?
ดร.ภูมิ: เริ่มต้นน่าจะส่งเสริมให้พนักงานใช้ PTT Coin ได้ผ่านกิจกรรมของ HR เพื่อสร้างให้เกิดความผูกพัน อาจทำเป็นลักษณะ loyalty program เช่น ร่วมกันทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง เพื่อสะสมเหรียญแล้วนำมาแลกเป็นรางวัล นอกจากนี้ ยังสามารถนำเทคโนโลยี Block chain มายืนยันในกระบวนการทำงานต่างๆ ของระบบสหกรณ์ได้ด้วยเพื่อสร้างความโปร่งใส
Blockchain ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทียบได้กับการเกิน Internet อย่างไร ?
ดร.ภูมิ: Internet เหมือนเป็นสนามทดลอง blockchain เพราะยังไม่ปลอดภัย และมีปัญหาเรื่อง cyber security มากมาย เพราะ Internet ขาด trust backbone และไม่มี end to end encryption แต่ต่อไป Blockchain จะเป็น Backbone (เส้นทางหลักของเครือข่าย) ของ internet เลยทีเดียว
หมายเหตุ: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ
เกี่ยวกับ ExpresSo (Express Solution)
ทีม Innovation Lab จัดตั้งขึ้น กรกฎาคม ปี 2559 โดยมีเป้าหมายเพื่อหาธุรกิจใหม่ให้ ปตท. โดยใช้หลักการของ Design Thinking (กระบวนการคิดเชิงออกแบบ) กับ Lean Startup (การสร้างสตาร์ทอัพโดยให้ความสำคัญกับคุณค่าที่ผู้ใช้จะได้รับ และมุ่งลดขั้นตอนที่จะทำให้สูญเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์) มาใช้อย่างจริงจัง เพื่อทดลองแนวคิดในการสร้างธุรกิจใหม่